เกี่ยวกับการประชุม

การประชุมวิชาการระดับชาติด้านชายแดนศึกษาและการพัฒนาระหว่างประเทศ ครั้งที่ 2
อาเซียนกับความ (ไม่) เชื่อมโยง : ความเสี่ยง การเปลี่ยนรูป และการอยู่ร่วมกัน


หลักการและเหตุผล

     ความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (ASEAN Connectivity) เป็นแนวคิดที่ต้องการเชื่อมกลุ่มประเทศในอาเซียนเข้าด้วยกันและทำให้เกิดการบูรณาการของประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์ผ่านการพัฒนาโครงการต่างๆ ที่จะสร้างความเชื่อมโยงกันในด้านสินค้า บริการ เงินทุน และคน จากแผนแม่บทว่าด้วยการเชื่อมโยงอาเซียนฉบับล่าสุด (Master Plan on ASEAN Connectivity 2025) ได้แบ่งการเชื่อมโยงออกเป็น 3 ด้านที่จะส่งเสริมความสามารถทางการแข่งขัน การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และสร้างความรู้สึกเป็นประชาคม แนวคิดดังกล่าวยังให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ และความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างประชาชนสู่ประชาชน ด้วยเชื่อว่าจะทำให้อาเซียนเป็นฐานการผลิตและตลาดการค้าที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว มีความสามารถในการต่อรองทางการค้า และส่งเสริมการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนที่แข็งแกร่งของสามเสาหลัก ได้แก่ ด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมและวัฒนธรรม

     อย่างไรก็ดี ความเชื่อมโยงระหว่างกันของอาเซียนที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับมิติทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ขณะที่มิติทางการเมือง ความมั่นคง สังคม และวัฒนธรรมกลับมิได้มีบทบาทในการสร้างความเป็นประชาคมขึ้นมา ภายใต้ความเป็นประชาคมของอาเซียนที่ผ่านมาจึงมีทั้งความเชื่อมโยงและไม่เชื่อมโยงระหว่างกันดำรงอยู่ นอกจากนี้ ท่ามกลางบริบทการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกกลุ่มประเทศอาเซียน อาทิ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างมหาอำนาจของโลกไปสู่ระบบหลายขั้ว ข้อพิพาททางเขตแดนและทางทะเลที่คาบเกี่ยวและยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ การเพิ่มงบประมาณสำหรับกิจการด้านกลาโหม ปัญหาคนพลัดถิ่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาข้ามชาติที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมข้ามแดน และกระบวนการทางการเมืองภายในของแต่ละประเทศ ล้วนนำมาสู่การตั้งคำถามว่าปรากฏการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยง การเปลี่ยนรูป และการอยู่ร่วมกันของอาเซียนอย่างไรภายใต้สภาวการณ์ที่มีทั้งความเชื่อมโยงและไม่เชื่อมโยงระหว่างกัน อีกทั้งยังชวนให้ตั้งคำถามถึงเหตุผลในการดำรงอยู่ของประชาคมอาเซียน ตลอดจนประสบการณ์ของผู้คนที่เกิดขึ้นภายใต้วาทกรรมการวมกลุ่มระดับภูมิภาค โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน ซึ่งได้กลายมาเป็นอาณาบริเวณที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ จากแนวคิดการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนผ่านโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จำนวนมาก

     ทั้งนี้ เพื่อทบทวนถึงแนวคิดการเชื่อมโยงระหว่างกันของอาเซียนและตั้งคำถามกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังการรวมกลุ่มเป็นประชาคม ทั้งในมิติเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ทั้งในระดับโครงสร้างและชีวิตของผู้คน ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จึงกำหนดให้มีการประชุมวิชาการระดับชาติด้านชายแดนศึกษาและการพัฒนาระหว่างประเทศ ครั้งที่ 2 ขึ้น ภายใต้หัวข้อ อาเซียนกับความ (ไม่) เชื่อมโยง : ความเสี่ยง การเปลี่ยนรูป และการอยู่ร่วมกัน โดยมีหัวข้อย่อย ประกอบด้วย 1) ทุนและรัฐกับการพัฒนา 2) การเคลื่อนย้ายของผู้คน สินค้า และวัฒนธรรม 3) เมืองชายแดน 4) การจัดการธรรมชาติแวดล้อม 5) ความขัดแย้งและสันติภาพ 6) อาเซียนจากรากหญ้า 7) AEC กับการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ และ 8) ASEAN กับบทบาทของประเทศมหาอำนาจ ด้วยหวังว่างานประชุมครั้งนี้จะเป็นพื้นที่หนึ่งของการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคประชาสังคมเกี่ยวกับชายแดนศึกษาและการพัฒนาระหว่างประเทศภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงของอาเซียน ตลอดจนก่อให้เกิดการตั้งคำถามและแสวงหาคำตอบร่วมกันเพื่อขยายพรมแดนการศึกษาและขับเคลื่อนการพัฒนาระหว่างประเทศทั้งในเชิงนโยบายและภาคปฏิบัติในอนาคตต่อไป

วัตถุประสงค์ของโครงการ

  1. เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิชาการและนักวิจัย ทั้งภายในและภายนอกสถาบันการศึกษานำเสนอผลงานวิชาการด้านชายแดนศึกษาและการพัฒนาระหว่างประเทศ
  2. เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ทัศนะ ความรู้ ระหว่างนักวิชาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานในพื้นที่ชายแดนและสนใจประเด็นการพัฒนาระหว่างประเทศ
  3. เพื่อสร้างการเรียนรู้และเข้าใจสถานการณ์การพัฒนาในพื้นที่ชายแดน

ขอบเขตของเนื้อหาบทความ
บทความที่จะนำเสนอในการประชุมนี้สามารถนำเสนอได้ทั้งบทความวิชาการและบทความวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ โดยที่จะต้องมีความเกี่ยวข้องสอดคล้องกับหัวข้อและประเด็นต่างๆ ของการประชุมดังนี้

  1. ทุนและรัฐกับการพัฒนา
  2. การเคลื่อนย้ายของผู้คน สินค้า และวัฒนธรรม
  3. เมืองชายแดน
  4. การจัดการธรรมชาติแวดล้อม
  5. ความขัดแย้งและสันติภาพ
  6. อาเซียนจากรากหญ้า
  7. AEC กับการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ
  8. ASEAN กับบทบาทของประเทศมหาอำนาจ