เกี่ยวกับการประชุม

จากอดีตจนถึงปัจจุบันสาธารณรัฐประชาชนจีนมีการพัฒนาประเทศมาอย่างต่อเนื่องและประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ อย่างเห็นได้ชัดจนเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาของผู้คนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้กับคนในประเทศและคนทั่วโลก ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและเป็นแบบอย่างการเรียนรู้ในการพัฒนาประเทศต่อประเทศกำลังพัฒนา การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านการศึกษาเป็นสิ่งที่ทุกประเทศให้ความสำคัญและกำหนดเป็นนโยบายพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างกัน จะช่วยส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ตลอดจนวัฒนธรรมมั่นคงยิ่งขึ้น

ความสัมพันธ์ไทย-จีน ก่อเกิดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลาหลายร้อยปี แม้ความสัมพันธ์ทางการทูตจะมีบางช่วงที่ขาดตอน แต่ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนต่อประชาชนไม่เคยหยุด
การแลกเปลี่ยนต่อกัน การวิเคราะห์และแลกเปลี่ยนความคิดด้านจีนศึกษาในทุกมิติ จึงเป็น การจัดประชุมวิชาการระดับชาติด้านจีนศึกษา ครั้งที่ 1 นี้ จึงเป็นเวทีเพื่อเป็นเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการ เปิดมุมมองและโอกาสความคิดเห็นในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับจีนศึกษา เพื่อนำความรู้ที่ได้จากการประชุมวิชาการฯ ไปปรับใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนการประยุกต์ใช้ในอนาคตภายภาคหน้า รวมถึงสร้างความเข้าใจต่อกันอันดีของประชาชนทั้งสองฝ่าย

โครงการประชุมวิชาการระดับชาติด้านจีนวิทยา ครั้งที่ 1 “ความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทย – จีนในวิถีใหม่” จัดขึ้นโดย โครงการจัดตั้งหน่วยวิจัยจีนศึกษา ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร และสำนักวิชาจีนวิทยา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ภายใต้ความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยพะเยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับจีนศึกษา ได้เผยแพร่และแบ่งปันข้อมูลความรู้ทางวิชาการด้านจีนศึกษา เปิดมุมมองและโอกาสในการแสดงความคิดเห็นที่จำเป็นต่อการปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อคนในประเทศ เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาในแง่มุมต่าง ๆ ของประเทศจีนทั้งโอกาสและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อประเทศไทย ส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างสองประเทศให้คงแน่นแฟ้นและดำรงอยู่สืบไป

วัตถุประสงค์ของโครงการ

  1. เพื่อเป็นการเผยแพร่และแบ่งปันข้อมูลความรู้ทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับจีนศึกษา
  2. เพื่อเปิดมุมมองและโอกาสความคิดเห็นในด้านจีนศึกษาที่จำเป็นต่อการปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อคนในประเทศ
  3. เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาแง่มุมต่าง ๆ ของประเทศจีน รวมไปถึงปัจจัยและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อประเทศไทย

ขอบเขตของเนื้อหาบทความ

  1. ด้านภาษาจีน : ภาษาจีน ไวยากรณ์จีน การแปลภาษาจีน วรรณกรรมจีน อักษรจีนโบราณ การสอนภาษาจีน ฯลฯ
  2. ด้านสังคม ศิลปะ และวัฒนธรรมจีน : ศิลปะจีน วัฒนธรรมจีน ประวัติศาสตร์จีน สังคมศาสตร์ ปรัชญาจีน นิทานพื้นบ้านจีน ฯลฯ
  3. ด้านเศรษฐศาสตร์ และการเมืองการปกครอง : เศรษฐกิจจีน การค้าการลงทุน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเมืองการปกครอง ยุทธศาสตร์จีน นโยบาย ฯลฯ