เกี่ยวกับการประชุม

อาณาบริเวณพรมแดนโดยทั่วไปแล้วยังคงเป็นพื้นที่ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และ ทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างสลับซับซ้อน มีผู้กระทำการหลายกลุ่มที่มีความแตกต่างหลากหลายในอำนาจและผลประโยชน์ที่คอยกำกับและช่วงชิงนิยามความหมายของพรมแดน รัฐจึงไม่สามารถผูกขาดอำนาจเอาไว้เพียงฝ่ายเดียวได้ตลอดไป แต่อย่างไรก็ตามอาณาบริเวณพรมแดนก็ยังคงมีสภาวะแวดล้อมเป็นของตัวเอง จึงทำให้พรมแดนแต่ละแห่งเปลี่ยนแปลงไปในแบบที่ไม่เท่าเทียมกันด้วย ในขณะเดียวกันเมื่อเกิดโรคติดเชื้อโควิด - 19 ที่มาพร้อมกับการเดินทางข้ามแดนของผู้คนและสิ่งของซึ่งได้กลายเป็นพาหะนำโรค พรมแดนประเทศก็กลายเป็นพื้นที่แรกที่รัฐเข้าไปจัดการสกัดกั้นมิโรคแพร่ระบาดข้ามเขตแดน อีกทั้งมีการสถาปนาพรมแดนประเภทต่างๆ เข้าไปยังพื้นที่ตอนในของประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอีกด้วย อาณาบริเวณพรมแดนจึงเป็นทั้งจุดแรกและจุดสุดท้ายของการแพร่ระบาด

จากสภาวการณ์ดังกล่าวข้างต้นการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในอาณาบริเวณพรมแดนจึงต้องการความรู้และวิธีการศึกษาที่ต้องตามให้ทันกับความเป็นไปที่เกิดขึ้น ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ สำนักวิชานวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จึงได้กำหนดให้มีการจัดประชุมวิชาการด้านชายแดนศึกษาและการพัฒนาระหว่างประเทศ ครั้งที่ 4 ขึ้นมาภายใต้หัวข้อ “นโยบายชายแดน: ทบทวน รื้อสร้าง นิยามใหม่”

วัตถุประสงค์ของโครงการ

  1. เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิชาการและนักวิจัย ทั้งภายในและภายนอกสถาบันการศึกษานำเสนอผลงานวิชาการด้านชายแดนศึกษาและการพัฒนาระหว่างประเทศ
  2. เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ทัศนะ ความรู้ ระหว่างนักวิชาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานในพื้นที่ชายแดนและสนใจประเด็นการพัฒนาระหว่างประเทศ
  3. เพื่อสร้างการเรียนรู้และเข้าใจสถานการณ์การพัฒนาในพื้นที่ชายแดน

ขอบเขตของเนื้อหาบทความ

  1. กระบวนการสร้างนโยบายชายแดน
  2. ชายแดนในมุมมองท้องถิ่น
  3. เมืองชายแดน, เมืองชายแดนคู่ขนาน, เมืองเครือข่าย
  4. ชายแดนในวิถีชีวิตใหม่
  5. ความมั่นคงของมนุษย์
  6. ข้อท้าทายต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน